กิจกรรมของเรา



ขอนำข่าวน่ายินดีล่าสุดมาเผยแพร่ครับ

เนรมิตเชียงใหม่ชุมชนต้นแบบเมืองน่าอยู่ยั่งยืน


19 มีนาคม 2553 เวลา 21:39 น.

เชียงใหม่ ประสานพลังทุกภาคส่วนเดินหน้าปฏิบัติการครั้งแรกของเมืองไทยเนรมิตเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่แบบยั่งยืน

นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้จัดการโครงการปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม ของ สสส. กล่าวว่า เชียงใหม่ถือเป็นเมืองตัวอย่างที่จะพัฒนาพลิกโฉมให้เป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่แบบยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลผ่านกระบวนการตรวจสอบสุขภาพเมือง พบว่า ณ ปัจจุบัน เชียงใหม่ กำลังประสบปัญหา 3 ประการ ประกอบด้วย ปัญหาขยะล้นเมือง โดยถือเป็นเมืองที่มีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อคนต่อวันมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีปริมาณขยะสูงถึง 320 ตันต่อวัน และใช้งบประมาณในการจัดการจำนวนมากกว่าสองร้อยล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาน้ำเสีย ที่ไหลลงแหล่งน้ำโดยไม่ได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธี ทำให้ ณ ปัจจุบันคุณภาพน้ำโดยเฉลี่ยหลายจุดของเชียงใหม่สูงกว่าค่ามาตรฐานโดยทั่วไปกว่า 4-5 เท่า ในบางจุดคุณภาพน้ำไม่สามารถแม้แต่ใช้ลดน้ำต้นไม้ได้ และปัญหาสุดท้ายคือ ปัญหาด้านเกษตรอินทรีย์ ที่เชียงใหม่จะต้องเร่งจัดการปัญหาดังกล่าว เนื่องจากพบว่า เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรสูงกว่าร้อยละ 80 อันนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมอย่างสูง ซึ่งทั้ง 3 วิกฤติดังกล่าว ได้ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการเชิญชวนคนในเชียงใหม่ให้เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่าน 99 วันของปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยมในครั้งนี้

ทั้งนี้ ปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม ถือเป็นแนวทางที่จะทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยใน 99 วันของปฏิบัติการครั้งนี้ จะจัดการกับ 3 ปัญหาหลักอย่างเป็นรูปธรรม และอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาร่วมกับความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่แล้วให้เกิดเป็นระบบจัดการที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายทางดังเช่นที่ผ่านมา เช่น การจัดการกับปัญหาขยะนั้น เทศบาลนครเชียงใหม่มีแผนที่จะร่วมกับมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง ได้เตรียมแผนรณรงค์ลดปริมาณขยะ ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ผ่านกิจกรรมโครงการแป๋งขี้เยื่อเป็นทุน

ทั้งนี้การรณรงค์ให้ประชาชนแลกซื้อถังแยกขยะ รวมถึงประสานจัดตั้งกลไกการจัดการเพื่อเป็นจุดคัดแยกขยะกระจายทั่วทั้งเมือง เช่น บริเวณลานสาธารณะ ตลาดสด และ โรงเรียน เพื่อรณรงค์ให้ทุกวันเสาร์เป็น “วันเชียงใหม่สะอาด” รณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่นำขยะในบ้าน มาขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินกลับไปเสริมสภาพคล่องในครอบครัว เพราะปัจจุบันหากแปลงขยะที่ถูกทิ้งต่อวัน พบว่า ชาวเชียงใหม่ทิ้งขยะมูลค่ากว่า 1,000,000 บาทต่อวัน ไปกับขยะที่ไม่ได้จัดการดังกล่าว นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้สังคมเกิดความเอื้ออาทรต่อกัน โดยรณรงค์ให้ร่วมบริจาคขยะแก่โรงเรียนจัดตั้งเป็น “กองทุนธนาคารขยะ” หรือ การสนับสนุนให้กลุ่มซาเล้งและคนไร้บ้านได้เกิดอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของกลไกสร้างเมืองน่าอยู่ร่วมกัน

นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครเชียงใหม่ ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ทางเทศบาลยินดีที่จะเข้าร่วมดำเนินการอย่างเต็มที่เนื่องจากมีเป้าหมายตรงกันกับแผนงานที่ทางเทศบาลต้องการดำเนินการอยู่แล้ว นอกจากนั้นเทศบาลยังมีแผนที่จะจัดทำโครงการความริเริ่มและนวัตกรรมเพิ่มเติมที่ได้แนวความคิดมาจากการพูดคุยร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการและปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม ในสามเรื่องหลักคือ การจัดทำวิสาหกิจผลิตปุ๋ยหมักจากใบไม้และขยะโดยใช้เทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การจัดทำบึงประดิษฐ์เพื่อบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติในคลองแม่ข่า การจัดทำโครงการป้ายรณรงค์แบบธรรมชาติ เพื่อมาทดแทนการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการปลดป้ายจำนวนมากริมคูเมือง ลงแล้ว และจะดำเนินการเป็นมาตรการของเทศบาลในการห้ามติดตั้งป้ายโฆษณาริมคูเมืองตลอดไป

ด้านการจัดการกับปัญหาน้ำเสียนั้น รศ.ดร. วสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม กล่าวชี้แจงในส่วนดังกล่าวว่า “เราแก้ปัญหาโดยรณรงค์ให้ครัวเรือน ร้านค้า หันมาติดตั้งถังดักไขมัน ที่มีทางเลือกให้ตามสภาพเศรษฐกิจครัวเรือน หากใครที่มีงบประมาณจำกัด เราจะจัดอบรมการทำถึงดักไขมันด้วยตัวเอง และสามารถนำไปใช้จริงที่บ้านได้ โดยเสียแค่ค่าวัสดุราคาเริ่มต้นเพียง 700 บาท หรือหากใครที่พอมีกำลังทรัพย์ เราก็ได้ติดต่อแบรนด์ที่ได้มาตรฐานไว้คอยบริการตามความต้องการ โดยขอให้จำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปพร้อมบริการติดตั้งโดยสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อความสะดวกสูงสุดในความร่วมมือครั้งนี้

พร้อมจัดทีม Call center 086-429-6647-9 ไว้คอยให้ข้อมูลเบื้องต้น พร้อมสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงด้วย ส่วนในองค์กรที่มีการติดตั้งบ่อดักไขมันอยู่แล้ว เราก็จะรณรงค์ให้ตรวจสอบประสิทธิภาพบ่อ พร้อมจัดการให้ปรับเปลี่ยนหากพบว่า บ่อดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณด้านคุณภาพที่ลดลง ส่วนแหล่งน้ำใหญ่ คณะทำงานได้นำแนวคิด “บึงประดิษฐ์” (Constructed Wet Land) ที่ได้นำไปใช้บำบัดน้ำแก่สถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ทั่วโลก เช่น สนามบินหลายแห่งในประเทศอังกฤษ และประสบความสำเร็จอย่างมากแล้วเนื่องจากไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการดำเนินการ มาทดลองใช้ปรับปรุงบริเวณคลองแม่ข่า โดยอาศัยหลักการของระบบนิเวศน์มาบำบัดน้ำเสีย ใช้พันธุ์ไม้เพื่อดูดซับสารเคมี มาแทนการก่อสร้างโรงบำบัดที่ใช้งบประมาณสูงกว่าหลายเท่าตัวเป็นสิ่งทดแทน ตลอดจนการจัดกิจกรรม “นักสืบสายน้ำ” เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำ พร้อมรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ชุมชนริมน้ำร่วมแก้ปัญหาสภาพน้ำ โดยใช้สารชีวภาพ EM เทลงในน้ำ เพื่อเพิ่มการย่อยสลายอย่างมีประสิทธิภาพ”

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์นั้น อาจารย์ชมชวน บุญระหงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ผู้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างยาวนานในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลและแนวความคิดอันนำสู่แผนการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์ในช่วงปฏิบัติการโดยจะเน้นการดำเนินการในสามส่วนประสานกันคือ หนึ่ง การพัฒนากลไกตลาดอินทรีย์ผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีอยู่แล้วในพื้นที่เช่น ร้านค้า GREEN SHOP ร้านอาหารอินทรีย์ และ ตลาดนัดอินทรีย์ในโรงเรียน เพื่อเพิ่มช่องทางให้กับผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น สอง การพัฒนาเครือข่ายผู้บริโภคสีเขียวในพื้นที่เพื่อเพิ่มฐานสมาชิกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้กับกลุ่มสมาชิกเช่นกิจกรรมเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรอินทรีย์ และ สาม การพัฒนาเครือข่ายและเพิ่มปริมาณเกษตรกรอินทรีย์ โดยเรามองการแก้ปัญหาแบบเป็นระบบวงจรเชื่อมโยงกันอย่างยั่งยืน เริ่มจากผู้ผลิต ระบบตลาด และผู้บริโภค โดยทางเทศบาลจะสนับสนุนปุ๋ยหมักที่ได้จากใบไม้และขยะ มาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์ให้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้จัดการโครงการปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม 99 วัน ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ทุกวันอาทิตย์ที่ 2 และ 4 ของเดือน เวลา 9.00 – 11.00 น. ร่วมพลิกฟื้นชีวิตคลองแม่ข่า ในกิจกรรม ร่วมเทน้ำ EM ณ สะพานรัตนโกสินทร์ และ เวลา 8.00 – 11.00 น. ร่วมพลปั่นจักรยาน รณรงค์ลดมลภาวะทางอากาศ และเยี่ยมชมเมืองเชียงใหม่ , ทุกวันจันทร์ เวลา 6.00 – 12.00 น. อุดหนุนผักเกษตรอินทรีย์ 100% ณ ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ในโรงพยาบาลนครพิงค์ และตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ บ้านป้าลาวัลย์ หลังมหาวิทยาลัย ราชภัฎเชียงใหม่ , ทุกวันเสาร์ เวลา 8.00 – 15.00 น. เชิญชวนนั่งรถราง ชมนก ชมไม้ ชมเมือง ฟรี ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และเวลา 9.00 – 12.00 น. ร่วมทำเชียงใหม่ให้สะอาด ด้วยการนำขยะรีไซเคิลมาร่วมคัดแยก และขายให้กลุ่มซาเล้ง และคนไร้บ้าน และทุกวันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ร่วมพิสูจน์ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง กับทัวร์ท่องเที่ยวชมฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถมาขึ้นรถได้ที่ คลังเกษตรอินทรีย์ ใกล้เจเจ มาร์เก็ต ผู้ใดที่สนใจกิจกรรม ดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Call center 086-429-6647 ถึง 9

ทั้งนี้ โครงการปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม จะเริ่มดำเนินการไปตลอด 99 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คณะทำงานได้เตรียมความพร้อมให้กับอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการกว่า 500 คน เข้าร่วมอบรมเวิร์คชอปที่ได้รับความร่วมมือจาก นักคิดและสร้างสรรค์มืออาชีพ อาทิ เจ้ยูไนเต็ด, a day, GTH, ทีวีบูรพา และซูเปอร์จิ๋ว ฯลฯ และจากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ชาวเชียงใหม่ได้สร้างสรรค์หนังสั้น จำนวน 3 เรื่อง เพื่อสะท้อนถึงปัญหาขยะ น้ำเสีย และอาหารอินทรีย์ ที่ร่วมแสดงโดยชาวเชียงใหม่ ภายใต้การกำกับของ GTH พร้อมฉายในการรณรงค์ปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวของปฏิบัติการพลิกโฉมเชียงใหม่สู่ชุมชนน่าอยู่ที่ยั่งยืนผ่าน  Call center 086-429-6647-9 และเว็บไซต์http://www.ourbetterchiangmai.org/