ภัยคุกคามเชียงใหม่วันนี้



ปัญหารุมเร้าเชียงใหม่ทิศทางพัฒนายังสับสนบังคับใช้แผนเบ็ดเสร็จ


ในวงประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน – เชียงราย ในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 ในเวทีของจังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ มีประเด็นที่หลายภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สะท้อนถึงทิศทางของเมืองเชียงใหม่ในอนาคต

มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 เห็นชอบร่างกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคและแผนงานโครงการสำคัญ (Flagship Project) โดยที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือมีโครงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน – เชียงราย รองรับการเป็นศูนย์กลางความเจริญที่เชื่อมโยงกับนานาชาติและอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน

ทั้งนี้ พื้นที่ของทั้ง 3 เมือง ได้ถูกกำหนดเป็นศูนย์กลางความเจริญหลักและรองของภาคเหนือ เชียงใหม่ – ลำพูนได้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเดียวกัน (Single Economy) ขณะที่เชียงรายเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมโยงความร่วมมือในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านคือ ลาว พม่า และจีนตอนใต้ ได้ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ

ทว่า ทั้ง 3 เมืองก็ยังมีข้อจำกัดในการรองรับการขยายตัวของการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัญหาการจราจร การควบคุมมลภาวะและการคุกคามต่อพื้นที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าต่อวิถีชีวิตคนเมืองเหนือ (Northness) ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมสำหรับการท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาเมืองเพื่อรองรับบทบาทการพัฒนาในอนาคต

เวทีการร่วมวงถกประเด็นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในอนาคต มีมุมมองสะท้อนทั้งปัญหาในสภาพปัจจุบันที่เชียงใหม่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติหลายด้าน เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาทางออก

ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง นักวิจัย (ชำนาญการ) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนมุมมองว่า ปัจจุบันเชียงใหม่ได้สูญเสียความสุขที่เคยมีอยู่เดิม โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของตึกสูง – อาคารสูงที่รุกคืบเข้ามาอยู่ใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น เช่นอาคารบริเวณใกล้เชิงดอยสุเทพที่ทำให้สภาพชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนไป ขณะที่ประเด็นปัญหาโลกร้อนถือเป็นเรื่องวิกฤติ หลายพื้นที่ของเชียงใหม่ประสบภัยแล้งหนัก และขณะนี้น้ำแข็งที่เทือกเขาหิมาลัยกำลังจะละลายหมด ซึ่งปัญหาที่ตามมาแน่นอนคือจะเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ไม่เว้นแม้ประเทศไทย เป็นไปได้สูงว่าอนาคตจะเกิดการอพยพเข้าสู่เชียงใหม่มากขึ้น ปัญหาที่ตามมาจะมีมากมายทั้งการจราจร สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต วิถีชุมชน มีการคิดถึงประเด็นนี้ไว้หรือยัง

นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาพลังงานจากภาวะราคาน้ำมันแพงได้นำไปสู่การพัฒนาระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) โดยขณะนี้เริ่มมีการเปิดพื้นที่เพื่อปลูกพืชพลังงาน จุดนี้จะเป็นปัญหาเพราะเกษตรกรได้ทำการแผ้วถางพื้นที่การเกษตรเดิมเพื่อปลูกพืชพลังงานแทน ซึ่งในอนาคตอาจทำให้พื้นที่การปลูกธัญญาหารลดลง

ดร.ดวงจันทร์กล่าวว่า ประเด็นปัญหาพลังงานควรมุ่งเน้นพลังงานทางเลือกใหม่ เช่นพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอนาคตจำเป็นต้องวางระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ระบบราง โดยต้องวางแผนระยะยาวคือไม่ใช้รถยนต์ โดยแนวคิดการวางแผนเมืองเชียงใหม่ในทิศทางข้างหน้าต้องคำนึงพื้นฐานปัจจัย โดยเฉพาะพื้นฐานเรื่องโลกร้อน

นายเกรียงศักดิ์ เจริญทรัพย์ ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนา ประธานโครงข่ายความร่วมมือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า การพัฒนาของเชียงใหม่ในระยะที่ผ่านมามุ่งไปสู่โลการค้าเสรี (Globalization) มากเกินไป ตัวอย่างเช่น ย่านถนนลอยเคราะห์ เขตตัวเมืองเชียงใหม่ มีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจประเภทผับ บาร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหายาเสพติดและการค้ามนุษย์ แต่ประเด็นนี้ถูกละเลยมาโดยตลอด โดยการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการมองแบบแยกส่วน ไม่มีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ซึ่งแผนชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 – 10 น่าตั้งคำถามว่ารัฐบาลได้นำไปใช้จริงหรือไม่ เพราะภาพที่เห็นในปัจจุบันแผนทั้งหมดขาดการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

ด้านตัวแทนจากกลุ่มภาคีคนฮักเชียงใหม่ กล่าวถึงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ว่า ยังกระจุกตัวและมีความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทสูงมาก ทำให้ความมั่นคงในชีวิตของคนชนบทลดน้อยลง เกิดการเคลื่อนย้ายอพยพเข้าสู่เมืองมากขึ้น เช่น ชาวบ้านส่งลูกมาเรียนในเมือง เรียนจบไม่กลับไปพัฒนาบ้านของตัวเอง ซึ่งการพัฒนาเชียงใหม่ในอนาคตต้องให้ความสำคัญฐานทรัพยากรที่มีอยู่เดิมและวิถีชีวิตดั้งเดิม

ขณะที่ผู้แทนจากสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองโบราณแต่กลับยังไม่มีความชัดเจนเรื่องขอบเขตการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ เช่นเวียงสวนดอก เวียงเจ็ดรินและเวียงกุมกาม ที่ไม่ได้มีการขีดขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้ความเจริญและชุมชนเริ่มเข้ามาประชิดพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันโบราณสถานที่มีอยู่จำนวนมาก ถือเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญ จำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อยอดเชื่อมโยงสู่ชุมชนและการท่องเที่ยวให้มากขึ้น

นายยงยุทธ ชอบทำดี รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ว่าทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ควรมุ่งประเด็นการควบคุมการเติบโตของเมือง เพราะสภาพของเชียงใหม่ขณะนี้เป็นศูนย์กลางในเกือบทุกด้าน จึงต้องกำหนดบทบาทของเมืองให้ชัดเจน และแผนการพัฒนาควรมีแผนเบ็ดเสร็จเพียงแผนเดียว เพื่อให้การแก้ปัญหาและการพัฒนามีทิศทางเดียวกัน

ด้านนางวิลาวัลย์ ตันรัตนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ มุ่งเน้น 6 ด้านสำคัญคือ
1.ปรับโครงสร้างการผลิตสู่การพึ่งพาตนเอง ปรับระบบการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อคงความเป็นฐานเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
2.ยกระดับการค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด
3.พัฒนาเมืองศูนย์กลางความเจริญและเมืองชายแดนเพื่อรองรับการเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ
4.พัฒนาคนและสังคมให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีความมั่นคงและอยู่เย็นเป็นสุข
5.พัฒนาศักยภาพของสถาบันครอบครัว ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง
6.บริหารจัดการทรัพยากรฯและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เน้นอนุรักษ์ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์อย่างสมดุล เตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติ

สอดคล้องกับกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองของธนาคารโลก ใน 5 ด้านหลักคือ
1.การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมิติทางกายภาพและทางเศรษฐกิจระหว่างชนบท – เมือง
2.การใช้กลไกตลาดในการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัย (Land & Housing Markets)
3.การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาเมือง
4.การแก้ปัญหาความยากจนในเมือง (Urban Poverty)
และสุดท้ายคือ การส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเมือง (Urban Governance)

ทั้งหมดเป็นมุมมองสะท้อนถึงปัญหาของเมืองเชียงใหม่ ทิศทางของเมืองที่ถูกขึ้นชั้นว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆด้านจะเป็นอย่างไรในอนาคต คนเชียงใหม่เท่านั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=302446