ศิลปและวัฒนธรรม



ลักษณะทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่

วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่ดีงาม มีคุณค่าซึ่งคนในสังคมประพฤติปฏิบัติหรือแสดงออกมาช้านานเป็นลักษณะที่เป็นศิลปะ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี อันมีทั้งรูปธรรมและนามธรรมซึ่งเป็นแบบอย่างวิถีชีวิตของสังคมหนึ่ง
วัฒนธรรมท้องถิ่น หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีผลผลิตของมนุษย์ในสังคมเป็นต้นว่า ความคิดความรู้สึก ความประพฤติ กิริยาอาการ ศิลปะ ประเพณี กฎหมาย ประดิษฐกรรมต่างๆ ที่สังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

คุณค่าหรือประโยชน์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น
วัฒนธรรมท้องถิ่นมีคุณค่าหรือประโยชน์ ทั้งอดีตและปัจจุบันดังนี้
1. ประโยชน์ในการศึกษาความเจริญของมนุษย์แง่ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิชาอื่นๆ
2. เป็นประโยชน์ทางด้านการให้ความบันเทิง ซึ่งจำเป็นมากสำหรับสมัยก่อน เพราะไม่มีความบันเทิงใจมากนัก
3. เป็นเครื่องสั่งสอนให้มนุษย์อยู่ในกรอบอันเหมาะสมและดีงามเช่น สุภาษิต นิทานชาวบ้าน เป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจ ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นกรอบของสังค4. เป็นรากฐานของความเจริญในปัจจุบัน วรรณคดี และกฏหมายที่มาจากท้องถิ่น เช่นพระลอ เดิมเป็นนิทานพื้นบ้าน กฏหมายลักษณะผัวเมีย การปรับไหมชายชู้ ตั้งขึ้นมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีแต่เดิม
5. วัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้เกิดความนิยม ภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน เป็นเครื่องชี้ให้เห็นสภาพของคน ความคล้ายคลึงกับที่อื่นๆทั่วโลก ความคิดเช่นนี้จะไม่สร้างความแบ่งแยก และขณะเดียวกันก็สร้างความภูมิใจในท้องถิ่นของตนว่ามิได้ด้อยไปจากท้องถิ่นอื่นใดในโลก

ศิลปวัฒนธรรมล้านนา

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839 เป็นระยะเวลากว่า 700 ปี จึงมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีการสั่งสมและผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่นบ้างโดยเฉพาะในยุคสมัยที่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าประมาณ 200 ปี โดยคนเชียงใหม่ได้ยอมรับวัฒนธรรมชาติอื่นและได้ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเชียงใหม่ มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งในด้านประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา ภาษาและวรรณกรรม การแต่งกาย อาหาร สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฏกรรม ดนตรี หัตถกรรมพื้นบ้านเป็นต้น ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของเชียงใหม่มีดังนี้

1. ภาษาล้านนา
ภาษาเป็นเอกลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวเชียงใหม่ มีทั้งภาษาพูดที่เรียกว่า กำเมือง และภาษาเขียนที่เรียกว่า ตั๋วเมือง หมายถึงตัวอักษรของล้านนานั่นเอง ตัวอักษรล้านนาเป็นอักษรเก่าแก่รุ่นเดียวกับอักษรมอญ อักษรพม่า เพราะมีลักษณะป้อมกลมแบบเดียวกัน ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ กล่าวไว้ว่าตัวอักษรล้านนาเป็นตัวอักษรที่เก่าแก่มีอายุเท่าๆ กับ อักษรไทยกลาง หรืออาจจะเก่ากว่านั้น ตัวอักษรล้านนาเป็นตัวหนังสือที่มาพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาและวัฒนธรรมของอินเดียที่เข้ามาทางภาคเหนือ ตามรูปตัวอักษรล้านนาแต่โบราณเป็นตัวเหลี่ยมที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เมื่อล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่า ประมาณ 200 ปีชาวล้านนาก็ถูกบังคับให้เรียนภาษาพม่า ตัวอักษรล้านนาซึ่งได้นำมาใช้อีกในระยะหลังๆ จึงมีลักษณะเหมือนตัวหนังสือพม่า
ตัวอักษรล้านนาในตอนแรกคงใช้ในการบันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยจารึกลงในใบลาน ใช้เหล็กแหลมเขียนลงในใบลานให้มีรอยลึกลงไปในเนื้อของใบลาน หลังจากนั้นจึงนำเอาใบไม้ถูลงบนใบลานนั้นทำให้สีของใบไม้แทรกลงในรอยจารึก เมื่อเช็ดเอาสีของใบไม้ออกก็จะเหลือแต่สีที่ติดค้างในรอยจารึก ทำให้เห็นชัดขึ้น
นอกจากมีการบันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีการบันทึกตำนานต่างๆ เช่นโหราศาสตร์ ตำราแพทย์ ค่าว ซอ ร่ายต่างๆ ด้วย ส่วนวัตถุที่ใช้ในการบันทึกนอกจากใบลานแล้ว ก็ยังใช้กระดาษสา ในรัชสมัยพญากือนา กษัตรอย์องค์ที่ 6 ของราชวงศ์เม็งราย พระมหาสวามี สุมนเถระ ได้นำเอาตัวหนังสือสุโขทัยเข้ามาใช้ ก็มีการใช้อักษรสุโขทัยมากขึ้น
ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ได้มีการฟื้นฟูเอาตัวอักษรล้านนามาใช้อีกครั้งหนึ่ง มีการศึกษาเล่าเรียนกันอย่างจริงจัง ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการศึกษาทั่วประเทศ การใช้ตัวอักษรล้านนาก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นตัวอักษรแบบสุโขทัยเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ของประเทศ

ตัวอักษรของล้านนาที่ใช้ในสมัยโบราณมีหลายรูปแบบ
1. อักษรล้านนาไทย ส่วนมากจะใช้เขีบยและจารึกตำรา คัมภีร์ต่างๆ พบอักษรแบบนี้มีอายอย่างสูงเพียง 500 ปี ซึ่งจารึกไว้ในใบลาน อยู่ที่วัดไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง มีลักษณะที่เพี้ยนจากอักษรล้านนาไทยปัจจุบันเล็กน้อย
2. อักษรฝักขาม หรืออักษรขอมเมือง อักษรชนิดนี้เท่าที่พบส่วนมากใช้จารหรือเขียนคำร้อยกรองรุ่นก่อน 300 ปีขึ้นไป เช่นโคลงนิราศหริภุญชัย โคลงพรหมทัต โคลงปทุมลังกา เป็นต้น และใช้สลักลงในศิลาจารึก เหตุที่ได้ชื่อว่า “อักษรขอมเมือง” เพราะอักษรแบบนี้รวมเอาอักษรหลายแบบไว้ด้วยกันคือ อักษรขอม อักษรพ่อขุนรามคำแหง และอักษรล้านนาไทย
3. อักษรพ่อขุนรามคำแหง ส่วนมากพบในแผ่นศิลาจารึกต่างๆ เช่นที่วัดเชียงมั่น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

อักขระล้านนา
อักขระล้านนาไทยนั้น ถือตามแนวตลอดถึงการจัดหมวดหมู่ หมือนภาษาบาลี เป็นเช่นเดียวกันกับอักษรไทยกลาง คือแบ่งออกเป็นสระ 8 ตัว พยัญชนะ 33 ตัว รวมเป็น 41 ตัว(ยังไม่นับอักษรเพิ่มให้ครบตามเสียงของล้านนา)

2. วรรณกรรมล้านนา
ล้านนาไทยในอดีตเคยเป็นถิ่นที่มีความเจริญทางวัฒนธรรม ทั้งทางด้านอัษรศาสตร์และวรรณกรรม วรรณคดี ตลอดจนประเพณีอันดีงาม ในด้านวรรณกรรมของล้านนา มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ได้แก่ ค่าวซอ คำฮ่ำ (ร่ำ) เพลงกล่อมเด็ก คำหยอกสาวอู้บ่าว จ๊อย-ซอ โคลง เป็นต้น วรรณกรรมที่เกิดขึ้น มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตแบบพื้นบ้าน มีระเบียบแบบแผนของตนเอง ปัจจุบันได้ถูกทอดทิ้งไม่ได้มีการอนุรักษ์สืบต่ออย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนสมัยใหม่ซึ่งรับเอาอารยธรรมสมัยใหม่แทนและปล่อยให้สูญหายไป ดังนั้นจึงควรที่จะศึกษาเพื่อสืบทอดให้เป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป วรรณกรรมที่สำคัญมีดังนี้

ค่าว
“ ค่าว “ เป็นคำร้อยกรองที่กวีทางภาคเหนือนิยมแต่งกัน ลักษณะคำประพันธ์ คล้ายกลอนแปดมีลักษณะสัมผัส การประพันธ์ค่าวเป็นการเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบเหมือนลูกโซ่ คือมีสัมผัสคล้องจองกันไป โดยแบ่ง ค่าว ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ค่าวซอ หมายถึงคำประพันธ์ที่นิยมแต่งกันมากทางภาคเหนือ แต่งค่อนข้างง่ายและอ่านเข้าใจง่าย ค่าวซออ่านด้วยทำนองเสนาะ โดยไม่ต้องมีดนตรีประกอบ วรรณกรรมที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทนี้ เช่น ค่าวซอเรื่องหงษ์หิน เจ้าสุวัตร ค่าวสี่บทของพระพรหมโวหาร เป็นต้น
2. ค่าวธรรม หมายถึง คำประพันธ์ที่เน้นเรื่องชาดก หรือนิยายธรรมที่แต่งเป็นเรื่องยาวสำหรับใช้เทศน์ให้ชาวบ้านฟังที่วัดเพื่อให้ข้อคิดหรือหลักธรรมเช่น ค่าวธรรม เรื่อง จำปาสี่ต้น
นอกจากนี้ ค่าวยังหมายถึงลักษณะการพูดของคนทั้งหลายที่ชอบพูดคล้องจองกันว่า “อู้เป็นค่าวเป็นเครือ”
ตัวอย่าง ค่าวอี่ลุงสอนหลาน
หลานเหยหลาน ฟังสารค่าจ๊อย หื้อจ๋ำถี่ถ้อย ลุงจักไขจ๋า
เจื้อกำคนนัก มักเสียน้ำต๋า อย่างเจื้อวาจ๋า รสเหมือนต๋าลอ้อย
หลานยังหนุ่มสาว เปิงบ่าวใจ๋ห้อย อยู่ต๋ามแป๋ดอย สอดเซาะ
ยิ่งแตกเนื้อสาว รุ่นราวเอ๊าะเอ๊าะ บ่าวเหยาะหยอกเล่น เป๋นเมา
จะไปเจื้อนัก กำพู่จายเขา ป้อแม่ของเฮา หนาวหนาวไข้ไข้
หากไปตกหลุม จะมานั่งไห้ เจ็บใจ๋แตงใน เสียบกั๊ด
ความปรารถนา เขาสารพัด คัดมาจนเสี้ยง คำคม
เสียใจ๋บ่แล้ว ตกล่มตกจ๋ม เพราะเจื้อคารม ป้อจายจ้างอู้
ถ้าเปิ้นฮักจิ๋ง แม่ญิงชอบสู้ ปรึกษาแม่ดู ก่อนเต๊อะ
อย่าเพิ่งตัดสิน โบยบินหมิ่นเซอะ จักเลอะแปดเปื้อน ราคี
ป้อแม่ปี้น้อง ย่อมฮักศักดิ์ศรี ต๋ามประเพณี สู่ขอ ก็หื้อ
กั๊นเปิ้นบ่สน อย่าไปฟั่งเตื้อ จับแขนจับมือ ล่วงล้ำ
อู้กั๋นเข้าใจ๋ ไผก็จ้วยก้ำ เจื้อกำสอนเจ้า เน้อนาย
อี่ลุงบอกจี้ เมื่อยังบ่สาย หื้อหลายสบาย สุขก๋ายจนเฒ่า
เซาะว่าหากิ๋น บกดินสีข้าว ค่อยฮิหาเอา เตื้อหน้อย
นกมีปีกหาง แป๋งฮางหย่อนย้อย ค่อยหาเตื้อหน้อย เหมือนคน
ขยันหมั่นต๊วง บ่มียากจน เอาใจเปรอปรน สามีของเจ้า
ตื่นก่อนนอนหลัง ดังไฟนึ่งข้าว ค่อยปงวางเบา ย่างย้าย
ลุกเจ๊าโบ๊ะหลัว มันจะผางฮ้าย เกร๋งใจ๋บ้ายใกล้ เรือนเคียง
หงายครกลงฮ้าน ลาบฮ้านบนเขียง ผัวลุกจากเตียง เถียงกั๋นลั่นบ้าน
อย่าเซาะก่อก๋าน เล่าขวัญจ๋าต้าน สร้างความรำคาญ ยอกย้อน
ใส่ร้ายป้ายสี หื้อเปิ้นเดือดร้อน ปั้นน้ำเป๋นก้อน แป๋งกำ
จักเสียภาพพจน์ เสียยศไปถำ เป๋นคนริยำ อัปรีย์ขวางบ้าน
เรื่องคนอื่นเขา อย่ากล่าวต้าน เสียบริวาร ฮ้อนฮ้าย
ดี – เลว จ้างเขา เฮาไปใส่ร้าย บ่ใจ้ว่าได้ กิ๋นเมือง
โบราณว่าไว้ อู้ได้ไปเปลื๋อง เป๋นคนก่วนเมือง หาเรื่องเปื้อนข้าง
เนื้อบ่ได้กิ๋น หนังบ่ได้หย่าง อย่าเต๊ะท่าทาง อวดฮู้
บ่เข้าใจ๋จิ๋ง ป้าดพิงกระทู้ เปิ้นมักหัวสู้ ดูแควน
วิชาความรู้ อย่าไปหาวแหน บอกหื้อทั่วแดน เป๋นแก๋นสรรค์สร้าง
คนบ่หวังดี ชอบจิสีข้าง จั๊กจุ๋งคนดัง ฟั่งลุก
บ่มีเหตุผล ส่อสนสอดซุก เป๋นตุ๊กต๋างผู้ หวังดี
หันเปิ้นตุ๊กตุ๊ก ปุกเปื้อนเสียดสี หันไผทำดีบ่มีเสริมสร้าง
ตี๋ตั๋วเสมอ เลิศเลออวดอ้าง หันคนมีตังฟั่งชน
เลียแข้ง เลียขา หลานอย่าไปคบ จักพบ ถึงขั้น อันตราย
กล๋อนบรรยาย ไขสุดเสี้ยงหนี้ เต้านี้สู่กั๋นฟัง ก่อนแหล่นายเหย
(คำบอกเล่าของนายเจริญ สุนันต๊ะ)

ซอ
“ซอ” เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของคนภาคเหนือ คนซอเรียกว่า “จ้างซอ” คนซอจะต้องเป็นคนที่มีความรู้และมีปฏิภาณไหวพริบดี โดยเนื่อหาของการซอจะมีทั้งในเรื่องของพิธีกรรม การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว หรือเรื่องเกี่ยวข้องกับที่ได้รับเชิญให้มีความสนุกสนาน การซอก็จะมีบทซอซึ่งนับเป็นวรรณกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง

การซอของภาคเหนือมี 2 แบบ คือ
1. ซอเดี่ยว คือคนซอเพียงคนเดียว เรียกว่า “ซอป๋อด”
2. ซอคู่ คือการซอโต้ตอบกันระหว่างชาย หญิง ด้วยทำนองซอ เรียกว่า “ซอมีคู่ถ้อง”

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการซอ
1. ปี่ มีเป็นชุดเรียกว่า “จุม” มีจำนวน 3 – 5 เลา เรียกชื่อต่างๆ กันดังนี้
ปี่จุม หรือ ปี่ 3 เลา ประกอบด้วยปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย ถ้าปี่ 4 เลา จะเพิ่ม ปี่ตัด ถ้าเป็นปี่ 5 เลา จะเพิ่มปี่กลาง 2 เลา
2. ซึง เป็นเครื่องดนตรีคล้ายกีตาร์ สีสายคู่ 2 คู่ 4 สาย
3. สะล้อ คล้ายซออู้ ซอด้วงของภาคกลาง ปัจจุบันนิยมเล่นสะล้อ 2 สาย

จ๊อย
จ๊อย เป็นการขับลำนำอย่างหนึ่ง ของภาคเหนือ เป็นถ้อยคำที่คล้องจองเป็นภาษาพื้นเมือง เป็นลำนำที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อความสนุกสนานของหนุ่มที่ไปเที่ยวบ้านสาว ในเวลากลางคืนเพื่อเกี้ยวสาว การจ๊อย อาจารย์ยุทธ เดชคำรณ กล่าวไว้ในหนังสือ คติชาวบ้านไทยว่า โอกาสที่จะได้ฟังจ๊อย มีดังนี้
1. เมื่อมีการซอ กล่าวคือเมื่อมีคนอยากฟังจ๊อย หรือจะมีการจ๊อยอำลาของคนซอ
2. จ๊อยเพื่อใช้เสียงเป็นเพื่อน ในการเดินทางตอนกลางคืนคนเดียวเงียบๆ เช่นแอ่วสาวต่างหมู่บ้าน
3. จ๊อยเมื่อมีการแข่งขันระหว่างเพื่อนฝูง เพื่อพบปะสังสรรสนุกสนานกัน
4. จ๊อยอวยพรในโอกาสต่างๆ เช่น จ๊อยขอบคุณ จ๊อยอำลาสาวคนรัก จ๊อยอาลัยคนรักเมื่อผิดหวัง
5. จ๊อยเกี้ยวสาว โดยให้สาวที่ตนเองรักได้ยิน หรือระบายความในใจของตนเองให้สาวรู้

ตัวอย่าง บทจ๊อย
* สาวหลับเจ๊ากิ๋นขี้หมาก๋อง บ่าวเตียวกองกิ๋นจิ้นไก่ต้ม
* เดิกมามะม้อยน้ำย้อยต๋องเต๋ย ลุกเต๊อะสาวเฮยปี้มาแอ่วเล่น
ใคร่หันหน้านายแม่ไหมแพรเส้น ตั๋วกรรมซอนเวรจ้าดแล้ว

คำฮ่ำ (ร่ำ)
สิงฆะ วรรณสัย ได้ให้ความหมายของคำ “คำฮ่ำ” ไว้ว่า “ร่ำพรรณนา” ใช้แต่งทำนองพรรณนาถึงการสร้างสิ่งต่างๆ เช่นคำฮ่ำบอกไฟ คำฮ่ำการสร้างวิหาร คำฮ่ำวิธีทำร่ม(จ้องบ่อสร้าง)
ตัวอย่าง คำฮ่ำ
* วิธีการ ไขขานเล่าแจ้ง บอกมาจ๋นแห้ง แจ้งก๋ารกระทำ จ้อง ร่มหนา หนำเขาจำหมู่ไม้ ขูดเหลาสอดไซร้ ไว้เป๋นโครงใน เป๋นหลักปัจจัย มีไม้หัว ตุ้มเคี่ยนมนอุ้มหลุ๊บ ตัวตุ้ม, หัว, บน สิ้กล๋อนลก๋ล เหลาลนเรียบไว้ สั้นยาวมอกใจ ซื่อไม้บงกาย
* ไม้ก๊ำใจ๊หลาย ใส่สายเจื๊อกฮ้อย ติดกั๋นเป็นถ้อย ใจ๊ไม้ซางงาม กันก๊ำติดต๋ามเคี่ยมงามบ่ส้วย ไม้จึ๋งแถมด้วย ไม้ป๋วยนามมัน จ้องใหญ่เลือกสรร เอากั๋นเปล่งป้อย ใจ๊ไม้หอบหน้อย เป๋นไม้ในดง เอามาเจาะจ๋ง บ่อลงสองข้าง เป๋นม้าสอยค้าง ยามก๋างขึ้นลง
* ปลอกลานประสงค์ ใส่ลงหัวหั้น ยามขึ้นลงนั้น ไว้เป๋นสปริง ร่างต้องต๋ามจริง ที่อิงบอกไว้ ที่ขาดบ่ได้ คือน้ำมันตา ต๋ามโบราณมา หาเอาหมายหมื้อ เซาะหาแลกซื้อ หมู่บ้านในไพร เดี๋ยวนี้สดใส เขาใจ๊ตังอิ๊ว บ่ใช่ขี้ริ้ว ตัวอิ๊วจิ๋นแดง
* เอามาดัดแปล๋ง สร้อยแสงเตื่อมหย้อง หื้องามจุ๊ห้อง ร่มจ้องล้านนา วัตถุนั้นหนา ที่หามาหุ้ม ปกบนห่มตุ๊ม ที่หุ้มปายบน ดูงามสก๋ล ปายบนหุ้มผ้า หุ้มแพรสง้า จ้องผ้าแพรพรรณ ผ่องามเหมือนกั๋น ช่างสรรแต่หย้อง ประดับร่มจ้อง หื้อผ่องงามนา
* พ่องกระดาษสา เอามาหุ้มใจ๊ เขียนลายดอกไม้ สีขาวแดงออน อันอุปก๋รณ์ ติดซอนร่มจ้อง แตนกาวทั่วห้อง ติดจ้องทาโท ใจ๊น้ำหมากโก๋ โบราณท่าใจ๊ แถมอย่างก็ได้ ใจ๊หมายกั๊บตอง หุ้มบนตังผอง ร่มจ้องผ่องแผ้ว หุ้มบนเสร็จแล้ว จึ่งตาน้ำมัน
* เพื่อไว้ป้องกั๋น ฝนมันตกเจ้า ยามแดดกล้าเล้า เอาจ้องก๋างบัง มีร่มฉัตรตั้ง กั้นแดดบังร้อน ฝนตกหลั่งข้อน ใจ๊จ้องบังเอา ล้านนาตึงเถา มาเอาร่มจ้อง เป๋นเครื่องปกป้อง เมื่อต้องภัยมี ป้องกั๋นหมาหมี อย่างดีคนเถ้า ใจ้แตนไม้เต๊า ข้าเจ้าวันตา
พ่อหนานคำคง สุระวงศ์ เป็นผู้ประพันธ์คำฮ่ำ ในงานเทศกาลร่มบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

เพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็กเป็นบทวรรณกรรมชนิดหนึ่งของชาวไทยภาคเหนือ ในแต่ละท้องถิ่นจะมีบทเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตแบบชาวบ้านที่มีความเจริญทางวัฒนธรรม จะใช้เมื่อมีการกล่อมเด็กให้หลับ แต่ละบทเพลงมีความไพเราะและมีความหมายเช่น

เพลงอื่อจา
อื่ออื่อจ้าจา หลับสองต๋าแม่ไปนานอกบ้าน
ไปเก็บบ่าส้านใส่ซ้ามาแขวน ไปเก็บบ่าแหนใส่ซ้ามาต้อน
น้องอย่าได้อ้อนแม่ไซ้บ่มา หื้อน้องกลับสองต๋า
น้องจาตีตี้ตีตี้ติดกั๋น หลับเมื่อวันน้องอย่าได้อ้อน
อออื้นอ้อน หื้อหลับเสียเนอนาย……

สำนวน คำพังเพย สุภาษิต
1. สำนวน เป็นคำกล่าวที่คมคาย ไพเราะใช้ถ้อนคำกระทัดรัดแต่มีใจความลึกซึ้งไม่ใช่ถ้อยคำธรรมดาทั่วๆไป
ตัวอย่างเช่น
จุ๊เปิ้นเมา บ่เอาเปิ้นแต๊ (หลอกเขาให้หลง แล้วไม่เอาจริง)
ตี๋หัวฟาก สนั่นหัวฝา (ทำอะไรกับคนหนึ่ง แต่ผลไปกระทบกับอีกคนหนึ่ง)
สลิดเหมือนขี้เดือนถูกเสียม (ผู้หญิงมีจริตมาก)
2. คำพังเพย เป็นคำกล่าวคมคาย ชวนคิด มีลักษณะค่อนไปทางสุภาษิต แต่ไม่มีลักษณะแนะนำชักชวนอย่างชัดแจ้ง เป็นถ้อยคำชวนคิดกล่าวติชมให้ผู้ฟังตีความเอาเอง
ตัวอย่างเช่น
กำบ่มีแป๋งใส่ กำบ่ใหญ่แป๋งเอา (ชอบใส่ความคนอื่นเขา)
กิ๋นหลายต๊องแตก แบกหลายหลังหัก (คนไม่รู้จักประมาณตน)
จะไปตี๋ก๋องแข่งฟ้า อย่าขี่ม้าแข่งตะวัน (คนมีปัญญาน้อย อย่าหาญสู้คนมีกำลังปัญญาสูง)
3. สุภาษิต เป็นคำกล่าวที่ดีงามเป็นจริงของทุกยุคทุกสมัย อาจจะเป็นคำสั่งสอน ชี้ให้เห็นสัจจะแห่งชีวิตก็ได้
ตัวอย่างเช่น
คนใหญ่แล้วบ่ต้องสั่งสอน จี้หีดแมงชอน ไผสอนมันเต้น
(คนเราโตแล้วไม่ต้องสั่งสอน ดูแต่จิ้งหรีดแมงกระชอนไม่มีใครสอนมันก็เต้นได้เอง)
ใค่เป๋นเศรษฐีหื้อหมั่นก๊า ใค่เป๋นขี้ข้าหื้อหมั่นเล่นไพ่หลังลาย
(อยากเป็นเศรษฐีให้หมั่นค้าขาย อยากเป็นขี้ข้าให้หมั่นเล่นการพนัน)

3. อาหารพื้นบ้าน
ความหมาย
อาจารย์เสาวภา ศักยพันธ์ และอาจารย์ยุพยง วิจิตรศิลป์ ได้ให้ความหมายของอาหารพื้นบ้านไว้ว่า อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ หมายถึง อาหารที่นิยมรับประทานกันเฉพาะท้องถิ่น ภาคเหนือ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำขึ้นได้ง่าย โดยอาศัยพืชผักหรือเครื่องประกอบอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น มีการสืบทอดวิธีปรุงและการรับประทานต่อๆ กันมา

ลักษณะอาหารพื้นบ้านภาคเหนือ
อาหารพื้นบ้านมีหลายชนิด มีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขา ป่าไม้ มีสภาพดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ อากาศชุ่มชื้นพอเหมาะ จึงมีผลผลิตทางการเกษตรมาก อาหารพื้นบ้านของภาคเหนือจึงมีหลายชนิด ดังตัวอย่างที่ปรากฏในบทเพลงกล่อมเด็กในอดีต หรือในบทเพลงสมัยปัจจุบัน เช่น บทเพลงพื้นเมือง ของ คุณจรัล มโนเพชร นักร้องชาวเชียงใหม่

บทเพลง “ของกิ๋นคนเมือง”
ของกิ๋นบ้านเฮา เลือกเอาเต๊อะนาย
เป๋นของพื้นเมือง เป๋นเรื่องสบาย
ล้วนสะป๊ะมากมี ฟังหื้อดีเน้อ
ฟั่งใคร่อยากจนเผลอ มาปกลื๋นน้ำลาย
แก๋งแคจิ๊นงัว ไส้อั่วจิ๊นหมู
แก๋งหน่อไม้ซาง คั่วบะถั่วพู
น้ำพริกแมงดา กับน้ำพริกอ่อง
คั่วผักกุ่มดอง หนังปอง น้ำปู๋
แก๋งผักเจียงดา ใส่ป๋าแห้งตวยเน้อเจ้า
แก๋งบอน แก๋งตูน กับแก๋งหยวกกล้วย
ต๋ำบะหนุน ยำเตา ส้าบะเขือผ่อย
แก๋งเห็ดแก๋งหอย ก้อยป๋าดุกอุย
แก๋งบ่าค้อนก้อม แก๋งอ่อมเครื่องใน
แก๋งผักเฮือดลอ อ๋อยำหน่อไม้
น้ำเมี่ยง น้ำผัก กับแก๋งฮังเล
น้ำพริกยี่เก๋ เฮ่งยำจิ๊นไก่
ลาบงัวตั๋วลาย ลาบความตั๋วดำ
ลาบไก่ยกมา ลาบป๋าสร้อยก่อลำกะ
กิ๋นอะหยังระวังพ่อง หลุต๊องจะว่าบ่าบอก เน้อ
ส่วนบ้านผมกิ๊กก๊อก ยอกแก๋งโฮะตึงวัน

วิธีการปรุงอาหารพื้นบ้านภาคเหนือ มีอยู่ทั้งสิน 115 ชนิด แต่ละชนิดมีวิธีการปรุงหรือประกอบอาหารได้หลายอย่าง ได้แก่ การแก๋ง การส้า การต๋ำ การเจี๋ยว การคั่วหรือผัด การนึ่ง การต้มส้ม การลาบ การแอ๊บ การอบ การปิ้ง การป่าม การจอ

4. การแต่งกายพื้นบ้านล้านนา
“ล้านนา” ในปัจจุบันหมายถึง อาณาเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน การแต่งกายพื้นเมืองของล้านนา จึงหมายถึงการแต่งกายของชนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในล้านนาในอดีตอาณาจักรล้านนาในบางยุคสมัยอาจครอบคลุมไปถึงรัฐต่างๆ เช่นสิบสองปันนา รัฐฉาน เชียงตุง เป็นต้น ซึ่งต่างก็เคยมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ชนกลุ่มใหญ่ที่สร้างสมอารยธรรมในล้านนาก็คือ “ชาวไทยวน” ซึ่ง ปัจจุบันเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” นอกจากนี้มีวัฒนธรรมกลุ่มชนต่างๆ ผสมผสานกันได้แก่ ชาวไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่(ไต) ชาวไทยวนในล้านนามีวัฒนธรรมในการทอผ้าเพื่อใช้สอยและแต่งกายเป็นเอกลักษณ์มาแต่โบราณ จากหลักฐานด้านจิตรกรรมฝาผนังวัดต่างๆ ในเชียงใหม่และน่าน ในเชียงใหม่เช่นวัดบวกครกหลวง วัดพระสิงห์วรวิหาร และวัดป่าแดด จิตรกรได้เขียนไว้เป็นหลักฐานประกอบกับการบันทึกของมิชชั่นนารี หรือผู้รู้ที่เล่าสืบต่อกันมา ดังนี้

4.1 การแต่งกายของผู้ชาย
เครื่องนุ่ง เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ชายชาวล้านนาไทยนิยมการ สักหมึก เป็นลวดลายประดับผิวหนัง หรือสักยันต์ ตั้งแต่เอวลงมาเสมอเข่า หรือต่ำกว่าเข่าเล็กน้อย ผ้านุ่งเป็นผ้าพื้นเป็นผ้าฝ้ายทอมือ หรือผ้าตาโก้ง (ผ้าลายดำสลับขาว) มีวิธีนุ่ง 3 แบบคือ
แบบที่หนึ่ง นุ่งแบบจับรวมตรงเอว แล้วเหน็บตรงกึ่งกลางมีบางส่วนเหลือปล่อยห้อยลงมาจากเอว
แบบที่สอง จับรวบเหน็บตรงเอวอีกด้านหนึ่งดึงไปเหน็บไว้ด้านหลังคล้ายนุ่งโจงกระเบน เรียกว่า “ นุ่งผ้าต้อย “
แบบที่สาม เมื่อต้องการความกระฉับกระเฉงสะดวกในการทำงาน ขุดดิน ทำไร่ทำนา ขี่ควายชาวทุ่งก็นุ่งให้กระชับมากขึ้น จนมองเห็นสะโพกทั้งสองข้างเรียกว่า “เค็ดหม้าม” หรือ “เก๊นหม้าม
เครื่องห่ม โดยทั่วไปชายชาวล้านนาจะไม่สวมเสื้อแต่ใช้ผ้าพาดไหล่หรือห่มในยามหนาว เรียก “ผ้าตุ๊ม” ลักษณะผ้าก็คงใช้ผ้าฝ้ายทอมือเช่นเดียวกับผ้านุ่งส่วนสีของผ้าจะย้อมด้วยสีจากพืช เช่นคราม มะเกลือ หรือแก่นขนุน ฯลฯ เป็นต้น
ทรงผม จากจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครก วัดพระสิงห์วรวิหารและวัดป่าแดด จิตรกรได้เขียนทรงผมตรงกันกับบันทึกของพวกมิชชั่นนารี มองเห็นชัดว่า มีการไว้ผมอยู่ 2 แบบ คล้ายคลึงกับแบบผมทางกรุงเทพฯ คือ
1. ทรงปีกหรือทรงมหาดไทย ทรงผมแบบนี้ตัดเกรียน ทั้งด้านข้างและด้านหลัง ไว้ตรงกลางหัวเสยไปด้านหลัง
2. ทรงหลักแจว ตัดเกรียนตามแบบที่หนึ่ง ตรงกลางไว้ยาวหวีแสกกลาง
ส่วนการสวมเสื้อนั้น นิยมกันในตอนหลัง เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมมีอยู่ 2 แบบ
1. แบบแรก เป็นเสื้อคอกลม แขนสั้นหรือแขนยาว ผ่าหน้าตลอด ผูกเชือก มีกระเป๋าปะทั้งสองข้าง สีเสื้อเป็นสีขาวตุ่นของใบฝ้าย ถ้าย้อมครามเรียกกันว่า “หม้อห้อม”
2. แบบที่สอง เสื้อคอกลมผ่าครึ่งอก ติดกระดุม(มะต่อมหอยสองเม็ด) มีกระเป๋าหรือไม่มีก็ได้
ต่อมาเมื่อเริ่มนิยมนุ่งกางเกง รูปแบบของกางเกงจีน มีขาสั้น(ครึ่งหน้าแข้ง) และขายาวถึงข้อเท้า เรียกว่า “เต่วสะดอ” เย็บจากผ้าฝ้ายทอมือ นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ให้ความเห็นว่า เจ้านายและผู้มีอันจะกิน การใช้เสื้อผ้าก็มีรูปแบบเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป แต่ด้วยกำลังทางเศรษฐกิจเอื้ออำนวยให้เลือกสรรวัสดุที่ประณีต มีค่าสูงทั้งมีโอกาสใช้เส้นใยจากต่างประเทศ
ประมาณกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มนิยมนุ่งกางเกงแพรจีนสีต่างๆ หรือแพรปังลิ้น สวมเสื้อมิสสะกี เป็นเสื้อตัดเย็บจากมัสลินหรือผ้าป่าน ลักษณะเป็นเสื้อคอกลม ผ่าครึ่งอกติดมะต่อมหอย แชนต่อต่ำและต่อให้แขนด้วยผ้าสี่เหลี่ยมระหว่างตัวเสื้อกับแขน เพื่อให้ใส่สบาย มีกระเป๋าติดตรงกลาง

4.2 การแต่งกายของผู้หญิงชาวล้านนา
เครื่องนุ่งห่มสามัญชนหญิง
เครื่องนุ่ง หญิงชนบทจะนุ่งผ้าซิ่นลายขวางต่อตีน ต่อเอว (เชิงต่อ ต่อเอว) สีดำและเฉพาะช่วงเอวยังต่อด้วยผ้าฝ้ายขาวอีกประมาณฝ่ามือ หรือกว่านั้นเล็กน้อยและใช้มาจนถึงสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ จึงหันไปนิยมนุ่งซิ่นตีนรวด นางอุณห์ ชุติมา กล่าวว่าสำหรับเชิงและเอวของผ้าซิ่นมีเชิงเป็นลวดลายสลับสีอีกด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันมาถึงปัจจุบันเพราะในระดับผู้มีอันจะกิน รูปแบบทรงเสื้อ ทรงผมจะเอาอย่างเจ้านายซึ่งเป็นผู้นำแล้ว สามัญชนเห็นสวยงามก็รับเอาอย่างไปแต่งบ้าง สีผ้าซิ่นจะย้อมด้วยสีจากพืช เป็นสีต่าง ๆ เช่นแดง ม่วง แต่เดิม หญิงสามัญชนทั้งชาวเมืองละชนบทไม่สวมเสื้อ แต่จะใช้ผ้าผืนยาวคล้ายผ้าแถบพันรอบอก หรือคล้องคอปล่อยชายปิดส่วนอก หรือพาดไหล่ปล่อยชายทั้งสองข้างไปด้านหลัง แต่ผ้าด้านหน้าจะปิดคลุมทรวงอกหรือไม่ก็ได้ หรือจะห่มเฉียงที่เรียกว่า “สะหว้ายแล่ง” แล้วแต่สะดวกของผู้แต่ง ถ้าหากอากาศหนาวก็จะใช้ผ้าคลุมไหล่เรียกว่า “ผ้าตุ๊ม”
สำหรับเสื้อ เข้าใจว่าการสวมเสื้อ คงจะเป็นความนิยมในระยะหลังเป็นเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าทอด้วยมือสีขาวตุ่น ซึ่งเป็นสีของฝ้ายพันธ์พื้นเมือง รูปแบบของเสื้อมีหลายแบบคือ
1. เสื้อคอกลม ตัวหลวม แขนกระบอกต่อแขนต่ำ ติดมะต่อมแตป (กระดุมแป๊บ) มีกระเป๋าทั้งสองข้าง
2. คอกลมตัวหลวม แขนกระบอกต่อแขนต่ำ ผ่าครึ่งอก ติดมะต่อมแตป บางครั้งเสื้อชั้นในจะไม่มีแขนซึ่งเรียกว่า เสื้ออก วิธีเย็บเหมือนกันกับเสื้อห้าตะเข็บ สำหรับเสื้อชั้นในถ้าเป็นผู้ใหญ่จะติดแบบคอกลมต่ำ เว้าแขน เย็บห้าตะเข็บ เป็นเสื้อพอดีตัว บางครั้งเมื่อแต่งตัวไปวัด ผู้สูงอายุ จะสวมเสื้ออก แล้วใช้ผ้าตุ๊มห่มเฉียง สำหรับเด็กหรือหญิงสาวเสื้อชั้นในจะเป็นเสื้อ “บ่าห้อย” ซึ่งตัดเย็บต่างจากเสื้อห้าตะเข็บ คือตัวหลวม จีบห่างๆทั้งด้านหน้าด้านหลังแล้วใช้ผ้ากุ๊นหรือต่อขอบตัวเสื้อด้านบน ส่วนแขนใช้ผ้าผืนตรงกว้างประมาณหนึ่งนิ้วครึ่ง หรืออาจใช้เส้นด้ายถักมีขนาดเท่ากับแผ่นผ้า แล้วเย็บติดกับตัวเสื้อก็ได้
เสื้อขั้นนอกในสมัยต่อมา มีการตัดเย็บโดยจับเกล็ด 2 เกล็ด ตรงเอวด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้เสื้อเข้ารูปทรง เป็นเสื้อคอกลมหรือคอแหลม สันนิษฐานว่า เป็นรูปแบบนิยมใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6 และพระราชชายาดารารัศมีทรงมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ในระยะต่อมาที่ใกล้เคียงกัน ก็มีแบบเสื้ออีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากแบบแรก คือ เป็นเสื้อคอแหลมมีระบายตรงสาบเสื้อ ปลายแขนและชาย นิยมใช้ผ้าป่านหรือแพรสีตัดเย็บ ส่วนเสื้อชั้นในมีรูปแบบคล้ายภาคกลาง คือคอกระเช้า ติดลูกไม้ตรงคอและแขน

ทรงผม
ผู้หญิงล้านนาไทย จะรวบผมเกล้ามวยไว้เหนือท้ายทอย หรือต่ำบริเวณท้ายทอยพอดี โดยดึงผมด้านหน้าตึงเรียบ สำหรับมวยผมจะเสียบหย่องโลหะ (เข็มเสียบผม) ทำด้วยเส้นโลหะบิดเป็นเกลียวเล็กๆ ตัดโค้งคล้ายตัวยู (U) หย่องนี้อาจทำด้วย เงิน ทอง นาค หรือโลหะอื่น แล้วแต่ฐานะของผู้ใช้ ผู้หญิงล้านนาบางคนยังนิยมเกล้ามวยแบบซัดหงีบ หรือ ดึงหน้าตรงกลางตึงเรียบแล้วใช้นิ้วสอดสองข้างดึงผมตรงหงีบให้โป่งออกมาเล็กน้อยทั้งสองข้าง
ต่อมามีทรงแบบใหม่ คือ แบบญี่ปุ่นหรือแบบพระราชชายา ทรงแบบนี้จะเกล้ามวยสูงเหนือท้ายทอย ผมตรงท้ายทอยอาจดึงให้ตรง หรือโป่งแล้วแต่ความพอใจของผู้แต่ง ส่วนด้านหน้าจะใช้หมอนหนุนผมด้านหน้า ให้มองดูสูงตั้ง ปักปิ่นตรงมวยด้านใดด้านหนึ่ง แล้วเหน็บหวีเขาควาย ถ้าโอกาสพิเศษหญิงผู้มีฐานะดีจะติดดอกไม้เงินหรือทอง ถ้าเป็นหยิงชาวบ้านก็อาจติดดอกไม้ เช่นช่อดอกเอื้อง หรือดอกไม้หอมนวล(ลำดวน) มะลิ สลิด(ขจร) อย่างใดอย่างหนึ่งวนรอบเป็นมวยเพิ่มเข้าไปอีกด้วย ผมทรงนี้เจ้าดารารัศมีทรงเป็นผู้นำเข้ามาแพร่หลายในหัวเมืองฝ่ายเหนือคราวเสด็จกลับเชียงใหม่ ปี 2457
การแต่งกายพื้นเมืองของชาวเชียงใหม่ปัจจุบันมีความแปลกแตกต่างไปจากแบบดั้งเดิมไปมาก เพราะเป็นอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก และอิทธิพลของสื่อมวลชน เช่นละครโทรทัศน์ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักว่าการแต่งกายที่ถูกต้องและเหมาะสมแต่ดั้งเดิมคืออย่างไร เกิดความสับสนเพราะขาดการชี้แนะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ทำให้เกิดความนิยมการแต่งกายแบบไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่ กลายเป็นชุดอลังการ มากจนเกินความพอดี เช่นการสุมดอกไม้ไหวระย้าย้อยเต็มศรีษะโพกผ้า ขนาดใหญ่ ใส่ผ้ายกดิ้นปักเลื่อมแพรวพราว เป็นต้น
ปัจจุบันชาวเชียงใหม่ได้เห็นความสำคัญและฟื้นฟูวัฒนธรรมการแต่งกายขึ้นมาอีก เพื่อให้ถูกต้องและถูกกาละเทศะโดยแต่งกันเฉพาะในงานเทศกาลหรืองานประเพณีต่างๆ

5. ศิลปพื้นบ้านของเชียงใหม่
เอกลักษณ์บ้านแบบล้านนา บ้านเป็นแบบใต้ถุน เพื่อใช้พื้นที่ใต้ถุนให้เป็นประโยชน์ด้วย เช่น เก็บของ ทำงาน ทอผ้า หรือเลี้ยงสัตว์เป็นต้น ลักษณะทั่วไปเป็นเรือนหลังคาเป็นจั่วสองหลังเชื่อมต่อกัน มีทางเดินตรงกลาง หลังหนึ่งจะเป็นห้องโถงใช้เป็นห้องนอน เรียกว่า “เฮือนหลวง” อีกหลังหนึ่งเรียกว่า “เฮือนหน้อย” มีส่วนประกอบสำคัญ เช่นก๋าแล เติ๋น หิ้งพระเจ้า หิ้งผีปู่ย่า หำยนต์ ฮ้านน้ำ เฮือนไฟ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีศิลปะที่เกี่ยวกับงานแกะสลัก ภาพเขียน การทอผ้า การทอเสื่อ งานโลหะ งานเครื่องประดับ เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา การทำร่ม การทำกระดาษสาของชาวสันกำแพง ซึ่งศิลปพื้นบ้านดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวล้านนามาแต่ช้านาน

6. การละเล่นพื้นบ้านล้านนา
การเล่นพื้นบ้าน หมายถึง การเล่นที่เป็นประเพณีนิยมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินและเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยได้รับความบันเทิงทั้งผู้แสดงและผู้ชม
การเล่นพื้นบ้านของเด็กล้านนาจะแฝงไว้ด้วยสัญญลักษณ์ที่อยู่ในวัฒนธรรมสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น การเล่นบางอย่างให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ฝึกฝนความชำนาญเพื่อใช้ประกอบอาชีพในอนาคต เช่น การเลียนแบบการทำงานผู้ใหญ่ การเลียนแบบวิธีหาอาหาร การเล่นบางอย่างเป็นการเล่นของตนเองตามลำพัง ทำให้ช่วยเหลือตนเองได้ เช่นเป่าใบไม้ รู้ซอ สิกไม้โก๋งเก๋ง หรือการเล่นโดยมีกติกา เช่น เล่นเตย เล่นแนด ลู่ไข่เต่า ทำให้เด็กเคยชินกับกฏเกณฑ์ต่างๆ สามารถปรับตัวและใช้กฏเกณฑ์เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้
ตัวอย่างของการเล่นพื้นบ้านได้แก่ ปืนกลก้านกล้วย กล้องกบ กงจักร ก๋องขี้หมา ขี่ม้าสองเมือง ขี่ม้าก้านกล้วย ชนกว่าง ตี่ แนด ปริศนาคำทาย ฟ้อนดาบ สิกไม้โก๋งเก๋ง ไม้หมากเก็บ วิดเชือก ลู่ไข่เต่า สิกกะโหล้ง หมากเก็บ เตย เป็นต้น

7. การแสดงนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง
การแสดงของคนพื้นเมืองที่นิยมกันมากได้แก่
1. ซอ เป็นการขับร้องเพลงซอ ซึ่งร้องกันสดๆ โต้ตอบระหว่างชายและหญิง มีเครื่องดนตรี มีปี่ประกอบการซอ เป็นการพรรณนาถึงสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติ การเกี้ยวพาราสี การซอเมื่อจัดงานบวชลูกแก้ว งานปอยหลวง ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
2. ฟ้อน ได้แก่ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนก๋ายลาย ฟ้อนดาบ ฟ้อนผี มดผีเม็ง เป็นต้น ซึ่งการฟ้อนต่างๆ จะมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของคนเชียงใหม่มาแต่ช้านาน
3. ดนตรี ดนตรีพื้นเมืองเชียงใหม่มีรูปแบบการเล่นตลอดจนท่วงทำนองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน มีเครื่องคนตรี 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
3.1 เครื่องดีด เป็นเครื่องที่มีสาย 2 ชนิด คือ เปี๊ยะ และ ซึง
3.2 เครื่องสี เป็นเครื่องที่มีสายแต่เสียงเกิดจากการเสียดสีของคนชักสาย คือ สะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้
3.3 เครื่องตี แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
3.1.1 ประเภทเครื่องตีไม้และโลหะ ได้แก่ระนาดไม้ ระนาดเหล็ก ฆ้องวง ฉาบ ฆ้องอุย ฆ้องโมง ฆ้องเล็ก
3.1.2 ประเภทเครื่องหนัง ได้แก่กลองต่างๆ คือกลองแอว กลองหลวง กลองปู่จา กลองสบัดไชย กลองตะหลดปัด กลองเต่งถึ้ง
3.4 เครื่องเป่า มี 3 ชนิด ได้แก่ ปี่ แน ขลุ่ย

http://www.peeso.itgo.com/culture.htm