ภูมิศาสตร์



สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์


ทำเลที่ตั้ง ขนาด อาณาเขตติดต่อ เขตปกครอง

ทำเลที่ตั้ง
จังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้ง (Latitude) ที่ 17 องศา 15 ลิปดาเหนือ ถึง 20 องศา 10 ลิบดาเหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวง(Longitude) ที่ 98 องศา 05 ลิปดาตะวันออก ถึง 99 องศา 40 ลิปดาตะวันออก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,027 ฟุต (310 เมตร)

ขนาด
จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 20,107.057 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ12,566,910 ไร่ มีส่วนกว้างที่สุดจากทิศตะวันตกจดทิศตะวันออกประมาณ 138 กิโลเมตร และส่วนยาวจากทิศเหนือจดทิศใต้ประมาณ 320 กิโลเมตรนับเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในภาคเหนือและมากเป็นอันดับสองรองจากจังหวัดนครราชสีมา

อาณาเขต
การแบ่งอาณาเขตของจังหวัดเชียงใหม่ได้อาศัยหลักสากลเป็นเครื่องพิจารณาได้แก่ สันปันน้ำ ร่องน้ำลึก และข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนี้ทิศเหนือติดต่อกับรัฐฉาน ของสหภาพพม่า(เมียนมาร์) โดยมีสันปันน้ำของ ดอยคำ ดอยปกกลา ดอยหลักแต่ง ดอยถ้ำป่อง ดอยถ้วย ดอยผาวอก ดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว เป็นเส้นกั้นอาณาเขตทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดเชียงราย ลำปาง และลำพูน ส่วนที่ติดต่อกับเชียงรายมีร่องน้ำลึกของแม่น้ำกกกับสันปันน้ำของดอยซาง ดอยหลุมซาว ดอยแม่วังน้อย ดอยวังผา ดอยแม่โถ เป็นเส้นกั้นอาณาเขต ส่วนที่ติดต่อกับจังหวัดลำปาง มีดอยลังกา ดอยห้วยหลอด ดอยแม่บอนและดอยขุนตาลน้อยเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ส่วนที่ติดต่อกับจังหวัดลำพูน มีสันปันน้ำของดอยพิ ร่องน้ำลึกของแม่น้ำพิ และแม่น้ำปิง บางส่วนเป็นพื้นราบ นอกจากนั้นเป็นสันปันน้ำของดอยขุนห้วยโทก ดอยขุนห้วยหละ ดอยช้าง เป็นเส้นกั้นอาณาเขตทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปาย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีสันปันน้ำของดอยกิ่วแดง ดอยแปรเมือง ดอยหมอนอังเกตุ ดอยขุนแม่สุรินทร์และดอยขุนยวมกับร่องน้ำลึกของแม่น้ำริดและแม่น้ำลอย สันปันน้ำของดอยขุนแม่ตื่นเป็นเส้นกั้นอาณาเขตทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสามเงา จังหวัดตาก โดยมีร่องน้ำลึกของน้ำแม่ตื่นและสันปันน้ำของดอยเลี่ยม ดอยหลวง เป็นเส้นกั้นอาณาเขต

เขตการปกครอง
จังหวัดเชียงใหม่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ 204 ตำบล 2,066 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเชียงดาว อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอพร้าว อำเภอสันป่าตอง อำเภอสันกำแพง อำเภอสันทรายอำเภอหางดง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า อำเภออมก๋อย อำเภอสารภี อำเภอเวียงแหง อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่วาง อำเภอแม่ออน อำเภอดอยหล่อ อำเภอกัลยาณิวัฒนา

. การปกครองส่วนท้องถิ่น


องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีจำนวน 211 แห่ง แบ่งออกเป็น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด, 1 เทศบาลนคร, 2 เทศบาลเมือง, 94 เทศบาลตำบล และ 113 องค์การบริหารส่วนตำบล

ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา โดยมีภูเขาล้อมรอบ ทางทิศตะวันตกเป็นทิวเขาถนนธงชัย ทางทิศตะวันออกเป็นทิวเขาผีปันน้ำ และทางตอนเหนือเป็นทิวเขาแดนลาวพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นพื้นที่ภูเขาและที่ราบเชิงเขา คิดเป็นร้อยละ 80 ของพื้นที่ เหลือเป็นที่ราบทำการเกษตรและเป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ

ก. ภูเขา จังหวัดเชียงใหม่มีทิวเขาที่สำคัญ ได้แก่
1. ทิวเขาแดนลาว เป็นทิวเขาที่อยู่ทางตอนเหนือต่อเนื่องมาจากตอนใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนทิวเขานี้เป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่าเฉพาะตอนที่เป็นเส้นอาณาเขตระหว่างประเทศไทยกับพม่าระยะทางยาว 120 กิโลเมตร เป็นแนวต่อไปทางใต้ไปต่อกับทิวเขาถนนธงชัยมียอดเขาที่สำคัญคือ ดอยผ้าห่มปก สูง 2,253 เมตร อยู่ในเขตอำเภอแม่อาย ดอยอ่างขาง สูง 1,931 เมตร อยู่ในเขตอำเภอฝาง ดอยหลวง สูง2,170 เมตร ดอยถ้วย สูง 1,823 เมตร อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว

2. ทิวเขาถนนธงชัย อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง เป็นแนวขึ้นไปจดกับทิวเขาแดนลาว ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอแม่ระมาด,อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากกับอำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ระยะทาง 54 กิโลเมตร เป็นแนวผ่านอำเภออมก๋อย ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด, ตำบลท่าผา อำเภอจอมทอง มียอดเขาที่สำคัญได้แก่ดอยอินทนนท์สูง 2,565 เมตร อยู่ในเขตอำเภอจอมทองซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดในประเทศไทย ดอยปุยสูง 1,685 เมตร อยู่ในเขตอำเภอเมือง ดอยสุเทพสูง 1,601 เมตร ในเขตอำเภอเมือง

3. ทิวเขาผีปันน้ำ อยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่มีความสำคัญคือ เป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอพร้าวอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่กับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และเป็นเส้นแบ่งเขต อำเภอไชยปราการกับอำเภอเชียงดาว มียอดเขาที่สำคัญได้แก่ ดอยขุนตาน สูง 1,374 เมตร ดอยช้างสูง 1,462 เมตร เป็นทิวเขาแนวยาวทอดผ่านอำเภอพร้าว ดอยสะเก็ด กิ่ง อำเภอแม่ออน อำเภอสันกำแพง

ข. ที่ราบ ที่ราบของจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่ราบผืนเดียวกับจังหวัดลำพูน มีลักษณะเป็นแอ่ง ที่ราบลุ่มมีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน ในฤดูฝนน้ำท่วม เป็นผลดีเนื่องจากน้ำได้พาตะกอนอินทรีย์สารมาทับถม นอกจากนี้ยังมีที่ราบริมฝั่งแม่น้ำระหว่างหุบเขา หรือที่เรียกว่าอ่าง ได้แก่ อ่างแม่แจ่ม อ่างแม่ตื่น อ่างแม่สะเมิง อ่างแม่แตงและอ่างแม่ฝาง

ค. แม่น้ำ จังหวัดเชียงใหม่มีแม่น้ำสายสำคัญ ดังต่อไปนี้
แม่น้ำปิง มีต้นน้ำอยู่ที่ดอยถ้วย อำเภอเชียงดาวทิวเขาแดนลาวไหลผ่านอำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม ใจกลางเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด รวมระยะทางที่แม่น้ำปิงไหลในเขตจังหวัดเชียงใหม่ยาวประมาณ 335 กิโลเมตร
แม่น้ำฝาง อยู่ในเขตอำเภอฝาง มีทิศทางไหลไปทางเหนือ บรรจบกับแม่น้ำกก ที่ท่าตอนอำเภอแม่อาย แม่น้ำกกจะไหลผ่านจังหวัดเชียงรายลงสู่แม่น้ำโขง
แม่น้ำกวง มีต้นน้ำคือดอยผีปันน้ำและดอยนางแก้ว อยู่ระหว่างอำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงรายกับอำเภอดอยสะเก็ด ไหลผ่านอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง
แม่น้ำแตง ต้นน้ำอยู่ในเขตบ้านเมืองแหง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเชียงดาว ไหลผ่านอำเภอแม่แตง ไปบรรจบกับแม่น้ำปิงทางทิศใต้ของอำเภอแม่แตง
แม่น้ำงัด ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอพร้าว ไหลผ่านอำเภอพร้าวและรวมกับแม่น้ำปิงในเขตของอำเภอแม่แตง
แม่น้ำสะเมิง ต้นน้ำคือดอยสันกลางในเขตอำเภอสะเมิง ไหลผ่านอำเภอสะเมิงและสันป่าตอง แม่น้ำกลาง ต้นน้ำอยู่ที่ดอยอินทนนท์ เขตอำเภอจอมทอง ไหลผ่านอำเภอจอมทองลงสู่แม่น้ำปิง แม่น้ำสายนี้มีน้ำตกที่สวยงามคือ น้ำตกแม่กลางแม่น้ำแจ่ม ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม บรรจบกับแม่น้ำปิงที่บ้านแม่สบแจ่ม
แม่น้ำตื๋น ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภออมก๋อย ไหลผ่านอำเภออมก๋อย ลงสู่แม่น้ำปิง
แม่น้ำออน ต้นน้ำอยู่ในเขต กิ่ง อำเภอแม่ออน ไหลผ่านกิ่ง อำเภอแม่ออน อำเภอสันกำแพงไปบรรจบกับแม่น้ำกวงที่อำเภอสารภี

ลักษณะภูมิอากาศ

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินเข้ามาห่างจากทะเล และติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ของทวีป ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อมรอบจึงทำให้มีอากาศหนาวมากในฤดูหนาวและร้อนในฤดูร้อน

แหล่งน้ำ

แหล่งน้ำผิวดิน ได้แก่ แม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ของเชียงใหม่มีทิวเขาน้อยใหญ่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ได้แก่แม่น้ำปิงและสาขา แม่น้ำฝาง แม่น้ำแตง
แม่น้ำกวง เป็นต้นเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยให้ประชากรมีแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรกรรม การสาธารณูปโภค ตลอดจนการท่องเที่ยวของจังหวัด

แหล่งน้ำชลประทาน หมายถึงแหล่งน้ำที่เกิดจากโครงการชลประทานต่างๆของรัฐมีทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก โครงการชลประทานที่สำคัญได้แก่ โครงการเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กั้นน้ำแม่งัด ตั้งอยู่ที่ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง โครงการเขื่อนแม่กวง กั้นลำน้ำแม่กวงตั้งอยู่ในอำเภอดอยสะเก็ด โครงการชลประทานแม่แตง โดยมีจำนวนพื้นที่รับน้ำจากชลประทานทั้งหมดประมาณ 881,270 ไร่
แหล่งน้ำใต้ดิน จังหวัดเชียงใหม่มีสภาพน้ำใต้ดิน ทั้งบริเวณที่มีปริมาณน้ำปานกลางถึงน้อย บางแห่งมีหินปูนเจือปนอยู่ด้วย บางแห่งมีคุณภาพเลวใช้ได้เฉพาะการเกษตร

ป่าไม้
ป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีประมาณ 9,841,250 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 75.44 ของเนื้อที่จังหวัดและมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดของภาคเหนือ จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและมีภูมิอากาศชุ่มชื้นพอเพียง จึงมีป่าไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น พืชพรรณธรรมชาติจะขึ้นแตกต่างกันไปตาม ระดับความสูง เช่นดอยสุเทพ ในบริเวณเชิงเขาป่าจะเป็นพวกเบญจพรรณ ถัดขึ้นไปเป็นป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ต้นไม้มีขนาดเล็ก ไม้พื้นล่างจะเป็นพวกหญ้า

ป่าไม้ที่พบประกอบด้วยป่า 2 ประเภท คือ
1. ป่าไม้ไม่ผลัดใบ ได้แก่ป่าดงดิบ ป่าสน
ป่าดงดิบ มีทั้งป่าดงดิบเขาและป่าดงดิบแล้ง พบในที่ชุ่มชื้น ลุ่มน้ำลำธาร หากอยู่ในที่สูงกว่า 1,000 เมตร จะเป็นป่าดิบเขา ไม้มีค่าได้แก่ ยาง แดง ตะเคียน กระบาก ยมหอม เป็นต้น
ป่าสน พบในบริเวณที่มีความสูง 700 เมตรขึ้นไปจึงพบตามภูเขาสูงทั่วไป เช่นดอยอินทนนท์ ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก เป็นต้น ในเขตอำเภออมก๋อยจะมีต้นสนขึ้นปะปนอยู่กับป่าแดงหรือป่าเต็งรัง ต้นสนที่พบในเชียงใหม่มี 2 ชนิด คือ สนสองใบ และสนสามใบ

2. ป่าไม้ผลัดใบ ได้แก่ป่าเบญจพรรณ ป่าแพะหรือป่าแดง
ป่าเบญจพรรณ พบบริเวณใกล้ลำธารหรือตามเชิงเขาเป็นป่าโปร่ง มีพืชชนิดผลัดใบปะปนกัน เพราะมีช่วงฤดูแล้งยาวนาน ไม้ที่สำคัญได้แก่ กวาว มะค่าโมง ประดู่เสี้ยวดอกขาว ยมหอม กระบี้เขาควาย ตะแบกเสลา สัก สมอไทย แดง พวกตระกูลไผ่ เช่นไผ่ป่า ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่ ไผ่รวก ไผ่ซาง เป็นต้น
ป่าแพะ หรือป่าแดง พบในบริเวณพื้นที่แห้งแล้งทั่วไป ไม้สำคัญได้แก่ เต็งรัง พลวง เหียงโมก เป็นต้น

การแบ่งป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มีดังนี้

1. ป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่มีป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 26 ป่า โดยมีป่าแม่แจ่มมีเนื้อที่มากที่สุดประมาณ 2,412,003.25 ไร่
2. อุทยานแห่งชาติ ปัจจุบันมี 5 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติ ออบหลวง อุทยานแห่งชาติแม่ปิง(แม่หาด-แม่ก้อ) อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้
3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1,021 ตารางกิโลเมตร
4. วนอุทยานแห่งชาติ มี 6 แห่ง คือ วนอุทยานแห่งชาตบ่อน้ำร้อนฝาง วนอุทยานแห่งชาติออบหลวง วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สา วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดหมอก-วังฮาง วนอุทยานแห่งชาติโป่งเดือด และวนอุทยานแห่งชาติม่อนหินไหล

แร่ธาตุและพลังงาน

จังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะทางธรณีวิทยาและธรณีประวัติส่อถึงศักยภาพที่มีแหล่งแร่สำคัญโดยมีการผลิตแร่ 8 ชนิด ได้แก่ แร่ดีบุก แร่วุลแฟรม แร่ซีไรท์ แร่แบไรท์ แร่ฟลูออไรท์ แร่มังกานีส แร่เฟลต์สปาร์ และแร่แคลไซต์ แร่ที่ผลิตได้มากที่สุดคือแร่แบไรท์ ผลิตที่อำเภอตอยเต่า รองลงมาได้แก่ แร่ฟลูออไรท์ ผลิตได้ในอำเภอดอยเต่า แม่แจ่ม อมก๋อย จอมทอง ฝาง ส่วนแร่ดีบุกและซีไรท์ผลิตได้ที่อำเภอสะเมิง ฮอด แม่แจ่ม อมก๋อย สันป่าตองและดอยสะเก็ด

นอกจากนี้แร่ชนิดอื่นที่ค้นพบแต่ยังไม่มีการพัฒนาได้แก่ถ่านหินพบในอำเภอฮอด อมก๋อยเวียงแหง แร่โคลัมไบท์และแร่แทนทาไรท์ พบในอำเภออมก๋อย ดินขาวพบที่อำเภอสะเมิง หินปูน พบมากในอำเภอเชียงดาวและจอมทอง แร่ตะกั่วและแร่สังกะสี พบมากที่อำเภอจอมทอง

สำหรับแร่ถ่านหิน ตามรายงานสรุปของสำนักงานธรณีจังหวัดเชียงใหม่ กรมทรัพยากรธรณี ปี 2532 ได้มีการสำรวจแร่ถ่านหินซึ่งคาดว่ามีปริมาณมากเป็นอันดับสามของประเทศ รองจากอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางและเขาสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมีมากกว่าจังหวัดกระบี่

ส่วนแร่พลังงาน นอกจากถ่านหิน มีน้ำมันปิโตรเลียมที่อำเภอฝาง มีโรงกลั่นน้ำมันเป็นของกรมพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม

ดิน
พื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่มีดินที่อุดมสมบูรณ์เอื้ออำนวยต่อการเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก โดยสภาพของดินที่พบมีลักษณะดังนี้
1. ที่ราบดินตะกอนใหม่ มีประมาณร้อยละ 7.77 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ลักษณะเป็นดินเหนียวและดินร่วนผสมดินเหนียว มีคุณสมบัติอุ้มน้ำและความชุ่มชื้นไว้ได้เอง จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกตลอดปี มีอยู่ตามบริเวณลุ่มแม่น้ำต่างๆ ทั่วจังหวัด
2. ที่ราบดินตะกอนเก่า มีประมาณร้อยละ 6.93 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด มีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย พบตามที่ราบสูงๆ ต่ำๆ หรือที่ราบที่ถูกคั่นด้วยแม่น้ำต่างๆ เป็นพื้นที่อยู่ห่างจากแหล่งนี้มากกว่าบริเวณที่ราบดินตะกอนใหม่ มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปานกลาง ระบายน้ำได้ดี เหมาะแก่การปลูกพืชไร่ยืนต้น มีอยู่บริเวณใกล้ลุ่มแม่น้ำปิง และแม่น้ำแม่งัด

รายละเอียดเพิ่มเติม

wikipedia